วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

มาลัยกลม/กลมลายเกลียว

มาลัยกลม/กลมลายเกลียว
มาลัยกลม หมายถึง มาลัยที่ร้อยให้มีลักษณะรูปทรงตามขวางเป็นวงกลมและรูปทรงตามยาวตรงและขนาน กันไปตลอดเข็ม นิยมร้อยตั้งแต่ขนาด 6 กลีบขึ้นไปจนถึง 12 กลีบ หรือมากกว่านี้ก็ได้ย่อมแล้วแต่ชนิดของดอกไม้ ถ้าดอกเล็กหรือกลีบเล็กก็ใช้จำนวนกลีบมาก แต่ถ้าดอกไม้ดอกใหญ่หรือกลีบใหญ่ก็ใช้จำนวนกลีบน้อย


มาลัยกลมแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
1. มาลัยกลมแบบไม่มีลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ มาลัยเกลี้ยง” หรือ “ ตอน” หมายถึง มาลัยกลมที่ร้อยด้วยกลีบดอกไม้ หรือ ดอกไม้ หรือใบไม้ล้วนๆ ไม่มีลวดลายใดๆ และเป็นสีเดียวกันตลอด
เช่น มาลัยกลมกลีบกุหลาบ มาลัยกลมดอกพุด มาลัยกลมดอกมะลิ มาลัยกลมกลีบดอกรัก มาลัยกลมดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ

2. มาลัยกลมแบบมีลาย หรือ บางคนเรียกว่า “ มาลัยกลมยกดอก” หมายถึง มาลัยกลมที่ร้อยใส่ลวดลายต่างๆ
ลงไป ลายที่นิยมร้อยใส่มาลัยกลมได้แก่ ลายประเภทลายเกลียว ลายคดกริช ลายตาประชุม และลายประกอบ มาลัยแบบนี้จะนิยมร้อยด้วยดอกพุดหรือกลีบกุหลาบ เป็นพื้นและลวดลายที่ร้อยใส่ลงไปนั้นมักจะใช้ดอกไม้ กลีบดอกไม้ หรือใบไม้ที่มีสีสดๆ หรือสีที่ตัดกัน เพื่อให้เห็นลวดลายชัดเจนสวยงาม


วิธีการร้อยมาลัยกลม มีหลักที่สำคัญดังนี้

1. คัดเลือกดอกหรือกลีบดอกให้ขนาดเท่าๆ กัน

2. การส่งกลีบหรือก้านดอก จะต้องให้ยาวเท่าๆ กันทุกกลีบ หรือทุกดอกทั้งในแนวเดียวกันและระหว่างแถวด้วย เพื่อให้มาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วนั้นมีสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงาม ดังนั้นในการร้อยดอกไม้แต่ละดอกหรือแต่ละกลีบ ควรจะต้องวัดก้านก่อนแทงใส่เข็ม

3. ร้อยแถวแรกหรือชั้นแรกให้เป็นวงกลมจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน โดยเริ่มร้อยกลีบแรกเรียงจากซ้ายวนไปทางขวา ( ตามเข็มนาฬิกา) จนครบจำนวนกลีบตามต้องการ

4. ร้อยแถวที่ 2 โดยวางกลีบให้สับหว่างกับกลีบในแถวแรกทุกกลีบ จนครบจำนวนกลีบเท่ากับแถวที่ 1
และแถวต่อๆ ไปก็ทำเช่นเดียวกัน ข้อควรระวัง คือทุกๆ แถวจะต้องมีจำนวนกลีบเท่ากัน
และสับหว่างกันทุกแถวด้วย ถ้าแถวใดจำนวนกลีบลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นแสดงว่าจะต้องร้อยสับหว่างผิด

5. มาลัยกลมแบบไม่มีลายร้อยเรียงวนโดยรอบเข็มควรจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่า กัน เมื่อร้อยครบจำนวนกลีบในแถวที่ 1 ตามต้องการแล้วก็เริ่มร้อยแถวที่ 2 โดยกลีบแรกของแถวที่ 2 นี้จะต้องอยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายและกลีบที่ 1 ของแถวที่ 1 และกลีบต่อๆ ไปก็ร้อยให้สับหว่างเช่นกันทุกแถวและจำนวนกลีบของแต่ละแถวก็ต้องเท่ากันด้วย

6. มาลัยกลมแบบมีลาย ถ้าลายด้านเดียวจะขึ้นต้นจำนวนกี่กลีบก็ได้ แต่ถ้าเป็นมาลัยกลมแบบมีลายสองด้านจะต้องขึ้นจำนวนกลีบคู่เสมอ นิยมขึ้น 8 หรือ 10 กลีบ หรือมากกว่านั้น
( ถ้าเป็นมาลัยที่มีขนาดใหญ่) วิธีการร้อยก็เรียงวนโดยรอบเข็มเช่นกัน พอถึงลวดลายก็ร้อยกลีบที่มีสีต่างไปจากสีกลีบที่ร้อยเป็นพื้นอยู่เดิมแล้ว นั่นเอง จะร้อยลายอะไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเห็นว่าสวยงามเหมาะสมเป็นสำคัญ

วิธีร้อยมาลัยกลมลายเกลียวคู่

แถวที่ 1 ใบ 2 กุหลาบ 2 ใบ 2 กุหลาบ 2 โดยรอบร้อยเว้นระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่าๆ กัน

แถวที่ 2 ใบ 2 ( ใบแรกอยู่ระหว่างใบที่ 1 กับ 2 ของแถวที่ 1 ) กุหลาบ 2 ใบ 2 กุหลาบ 2

แถวที่ 3 – 14 ร้อยเช่นเดียวกับแถวที่ 2 โดยแต่ละแถวให้กลีบสับหว่างกันทุกแถวเสมอ

หมายเหตุ กลีบที่ 3 -4 ของแต่ละแถว คือลายเกลียวที่ 1 และกลีบที่ 7- 8 ของแต่ละแถว คือลายเกลียวที่ 2 เมื่อร้อยเสร็จแล้วจะเห็นว่าเกลียวทั้งสองนี้จะเคลื่อนขนานเวียนขึ้นไปรอบ เข็ม

ถ้าร้อยกลีบแรกของแถวที่ 2 อยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายกับกลีบที่ 1 ของแถวแรก แถวอื่นๆ ก็เช่นกันจะได้ลายเกลียวที่หมุนเคลื่อนที่ด้านตรงข้ามคือลายจะเคลื่อนจาก ด้านขวามือออกไปด้านนอกตัว แล้วเวียนกลับเข้ามาทางด้านซ้ายมือ

หน้าที่ใช้สอยของมาลัยกลม/กลมลายเกลียว

* ใช้ทำเป็นมาลัยคล้องคอ
* ใช้ทำเป็นมาลัยมือ หรือมาลัยคล้องแขน
* ใช้ทำเป็นมาลัยแขวนหน้ารถ แขวนหัวเรือ
* ใช้เป็นส่วนประกอบตกแต่งงานประดิษฐ์ดอกไม้สดของไทยบางอย่าง

แผนผังมาลัยกลมลายเกลียวคู่


- รูปหัวใจสีเขียวแทนใบแก้ว
- รูปสีแดงๆส้มๆแทนกลีบกุหลาบ

1.มาลัยกลมแบบไม่มีลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น