วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ขนมจีนในภาคต่างๆ

ประวัติ
คำว่า "ขนมจีน" ไม่ใช่อาหารจีนแต่คำว่า "จีน" ที่ต่อท้ายขนมนี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากมอญซึ่งเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" หมายถึง "สุก 2 ครั้ง" พิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่า " จริง ๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ คนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน คนอม หมายความว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จินแปลว่าทำให้สุก"นอกจากนี้ "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังกร่อนเป็น "ขนม" จริง ๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมจึงมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือ หนม ในภาษาเขมร หรือ คนอม ในภาษามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ดังนั้นขนมจีน จึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน ซึ่งทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล จนเป็นอาหารที่ทำง่ายและมีความนิยมสูง สามารถหาทานได้ทั่วไป

 เส้นขนมจีน

เส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
  • ขนมจีนแป้งหมัก ใช้การหมักแป้งข้าวเจ้าโดย นำแป้งข้าวเจ้ามาแช่น้ำให้นิ่ม และนำไปโม่ก่อนหมักประมาณเจ็ดวันเมื่อหมักแล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง
  • ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้งข้าวเจ้า ไม่ต้องทิ้งไว้แล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง
หลังจากนวดแป้งแล้วจะเทแป้งใส่กระบอกทองเหลือง มีรูเจาะไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง เมื่อกดแป้งเข้าไปในกระบอก เส้นขนมจีนก็จะไหลออกจากปลายกระบอก เป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตรเมื่อได้เส้นแล้วก็ทำต้มในน้ำร้อนเดือดเพื่อทำความสะอาด แล้วนำมาร้าดด้วยน้ำสะอาดอีกทีหนึ่ง เส้นขนมจีนที่ได้ จะจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ บางถิ่นเรียก จับ หรือ หัว เมื่อเรียงในจานสำหรับรับประทาน จะใส่ประมาณ 3-4 จับ

 ขนมจีนในแต่ละถิ่น

 ขนมจีนภาคกลาง

ขนมจีนน้ำยา
นิยมกินกับน้ำพริก น้ำยาและแกงเผ็ดชนิดต่างๆ น้ำยาของภาคกลาง นิยมกินกับน้ำยากะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริกเป็นขนมจีนแบบชาววัง ปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสงกินกับเครื่องเคียงทั้งผักสด ผักลวก และผักชุบแป้งทอด ขนมจีนซาวน้ำ เป็นขนมจีนที่นิยมในช่วงสงกรานต์ กินกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ทางสมุทรสงครามและเพชรบุรีจะปรุงรสหวานด้วยน้ำตาลมะพร้าว
เส้นขนมจีนของภาคกลางที่มีชื่อเสียงคือขนมจีนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา และขนมจีนปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นขนมจีนเส้นเล็กเหนียว จับขนาดเล็ก ส่วนขนมจีนหล่มสักและหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์เป็นขนมจีนแป้งสดที่มีชื่อเสียง ขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ นครปฐม กินขนมจีนกับแกงป่าน้ำใสที่ใส่พริกขี้หนูกับเม็ดพริกไทยอ่อน ถ้าเป็นแกงปลาจะเพิ่มกระชาย ใบกะเพรา และใบยี่หร่า กินคู่กับตีนไก่ตุ๋นและไหลบัวลวก
  • ขนมจีนชาววังชนิดหนึ่ง เรียกขนมจีนครามแดง กินกับกุ้งย่าง แตงกวาฝาน ขิงซอย สะระแหน่ ราดน้ำยำจากน้ำพริกเผา อีกชนิดหนึ่งเรียกขนมจีนชิดลม กินกับไก่ต้มกะทิ ราดด้วยน้ำพริกเผาผสมมะนาว

 ขนมจีนภาคเหนือ

เรียกขนมจีนว่า ขนมเส้นหรือข้าวเส้น นิยมขนมจีนน้ำเงี้ยวที่มีดอกงิ้วเป็นองค์ประกอบสำคัญ กินกับแคบหมูเป็นเครื่องเคียง

 ขนมจีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เรียกขนมจีนว่า ข้าวปุ้น อีสานใต้เรียกว่า นมปั่นเจ๊าะ คล้ายกับกัมพูชา นิยมกินกับน้ำยาใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่กินขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสดวยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และนำขนมจีนมาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมขนมจีนแป้งหมัก ขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่
  • นครราชสีมา มีน้ำยาไก่ที่คล้ายแกงเผ็ดไก่ของทางภาคกลาง แต่ไม่ใส่มะเขือและใบโหระพา ใส่เครื่องในไก่ เลือดไก่และตีนไก่แทน
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเส้นขนมจีนที่เป็นเอกลักษณ์ 2 แบบคือด้องแด้ง เป็นเส้นขนมจีนที่เกิดจากการกดแป้งขนมจีนผ่านพิมพ์ที่รูกว้างกว่าปกติ ทำให้ได้เส้นขนมจีนขนาดใหญ่ อ้วนกลม นิยมนำมาใส่ในส้มตำ ต้นตำรับมาจากอำเภอปากชม จังหวัดเลย
  • ไข่โอก เป็นขนมจีนแบบโบราณ เกิดจากการกดแป้งชนมจีนให้เป็นเม็ดกลมสั้น นิยมขายคู่กับด้องแด้ง ใช้ใส่ส้มตำ

 ขนมจีนภาคใต้

เรียกขนมจีนว่า โหน้มจีน โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต กินกับผักเหนาะชนิดต่างๆ ทางภูเก็ตกินกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมกินขนมจีนเป็นอาหารเย็น กินกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราชกินเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ากินคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา ขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่
  • ภูเก็ต มีขนมจีนน้ำยาปู คล้ายน้ำยาปลาแต่ใช้เนื้อปูม้าแทนเนื้อปลา และยังกินขนมจีนกับน้ำชุบหยำหรือน้ำพริกที่ปรุงด้วยการขยำเครื่องปรุงเข้าด้วยกัน ไม่ได้โขลกให้เข้ากันในครก
  • พังงา กินกับแกงไตปลาที่รสเผ็ดน้อย ปรุงรสเปรี้ยวด้วยสับปะรดและส้มแขก
  • ชุมพร กินกับแกงไตปลาหรือแกงขี้ปลาที่ใส่ข่า กระชาย หอม กระเทียมที่ซอยละเอียด ไม่ได้นำไปโขลกกับน้ำพริกแกง มีสีเหลืองจากขมิ้นชัน

 ขนมจีนนานาชาติ

  • เวียดนามมีเส้นคล้ายขนมจีนเรียกบุ๋น นิยมกินกับน้ำซุปหมูและเนื้อ ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเว้ เรียก บุ๋นบ่อเหว
  • ลาวเรียกขนมจีนว่าข้าวปุ้น นิยมกินกับน้ำยาปลาหรือน้ำยาเป็ด ทางหลวงพระบางกินกับน้ำยาผสมเลือดหมูเรียกน้ำแจ๋ว
  • กัมพูชาเรียกขนมจีนว่า นมปันเจ๊าะ นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า 
  • พม่ามีอาหารประจำชาติเรียกหม่อนี่งาซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาปลาของไทยแต่ใส่หยวกกล้วยไม่มีกะทิและกระชาย

 การรับประทาน

เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก แกงกะทิต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลาซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้นใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลา นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น เครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่นๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค

 ผักที่รับประทานคู่กับขนมจีน

ผักที่รับประทานกับขนมจีนแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น